ความเป็นมาของพระเครื่อง

พระเครื่องราง นิยมเรียกโดยย่อว่า พระเครื่อง หมายถึง พระพุทธรูปขนาดเล็ก สร้างไว้สำหรับบรรจุไว้ในเจดีย์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อาจจะรวมถึงรูปสมมติขนาดเล็กของพระสงฆ์อริยบุคคล พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าด้วย


สันนิษฐานว่าสร้างภายหลังการสร้างพระพุทธรูป (ราว พ.ศ. 500) ปรากฏเห็นเป็นหลักฐานชัดเจนในในสมัยทวารวดี (ราว พ.ศ. 400-พ.ศ. 1200) และสมัยศรีวิชัย (พ.ศ. 1300) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ที่มาเคารพสังเวชนียสถาน เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ส่วนความหมายของคำว่าพระเครื่องในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ท่านสั่งเครื่องจักรจากยุโรปมาเพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ ทำให้มีการผลิตเหรียญของเกจิอาจารย์ขึ้น ทำให้เรียกว่าพระที่ทำจากเครื่องจักรว่าพระเครื่องหรือ เรียกพระองค์เล็กๆที่เป็นพระพิมพ์เรียกเหมือนกันว่าพระเครื่อง

ช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อในสังคมไทย โดยจากในอดีตที่ไม่นำนิยมนำพระพุทธรูปมาไว้ในบ้าน[ต้องการอ้างอิง] ก็เริ่มนำพระพุทธรูปมาไว้ในบ้าน มีการสร้างห้องพระหรือหอพระเพื่อใช้เป็นที่บูชาและเก็บรักษาพระพุทธรูปและพระพิมพ์ อีกทั้งมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ใช้นำติดตัวพกพาไประหว่างการเดินทาง และมักถูกเรียกว่า พระเครื่องราง

ความเชื่อและคตินิยม
เครื่องรางส่วนใหญ่ การสร้างสร้างให้มีขนาดเล็กเพื่อที่จะสามารถสร้างได้จำนวนมาก สำหรับบรรจุในเจดีย์ เพื่อว่าในอนาคตเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมลง วัตถุต่างๆพังทลายยังสามารถพบรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนา ใช้เป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันในการออกศึกสงครามของคนโบราณ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง

ปัจจุบันนิยมนำมาห้อยคอเป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันและเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตตามความเชื่อปรัมปราของไทย